วันพุธที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2552

จังหวัดนครพนม


คำขวัญ: พระธาตุพนมค่าล้ำ วัฒนธรรมหลากหลาย เรณูผู้ไท เรือไฟโสภา งามตาฝั่งโขง
สัญลักษณ์ประจำจังหวัด: พระธาตุพนม

ข้อมูลทั่วไป จังหวัด นครพนม


นครพนม เมืองนครแห่งอีสาน ดินแดนสองฝั่งแม่น้ำโขงแถบนี้ เดิมทีเป็นที่ตั้งของอาณาจักรศรีโคตรบูร ตัวเมืองตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายของลำน้ำโขง(ฝั่งลาว) บริเวณทางใต้ปากเซบั้งไฟ ตรงข้ามกับพระธาตุพนมในปัจจุบัน ตามประวัติเล่ากันว่าเมื่อพญานันทเสนผู้ครองศรีโคตรบูรสวรรคต เสนาอำมาตย์และประชาชนต่างก็เห็นว่าบ้านเมืองเกิดเภทภัยหลายครั้ง ควรที่จะย้ายไปสร้างเมืองใหม่อยู่ตรงข้ามกัน ซึ่งเป็นบริเวณที่มีป่าไม้รวกขึ้นอยู่เป็นดงจึงได้เรียกชื่อเมืองใหม่นี้ว่า “มรุกขนคร” หมายถึงเมืองที่อยู่ในดงไม้รวก มรุกขนครในสมัยพญาสุมิตรธรรมเมื่อ พ.ศ. 500 นั้นรุ่งเรืองมาก มีเมืองขึ้นมากมายและมีการบูรณะพระธาตุพนมขึ้นเป็นครั้งแรกด้วย โดยการก่อพระลานอูบมุงชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 แล้วสร้างกำแแพงล้อมรอบ มีงานสมโภชใหญ่โต หลังจากพญา สุมิตรธรรมแล้วก็มีผู้ครองนครต่อมาอีก 2 พระองค์ แต่ก็เกิดมีเหตุอาเพศแก่อาณาจักรศรีโคตรบูรจนกลายเป็นเมืองร้าง กระทั่งถึง พ.ศ. 1800 เจ้าศรีโคตรบูรได้สร้างเมืองมรุกขนครขึ้นใหม่ใต้เมืองท่าแขก บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ในพ.ศ. 2057 ผู้ครองเมืองมรุกขนครคือพระเจ้านครหลวงพิชิตทศพิศ ราชธานีศรีโคตรบูรหลวง ได้เปลี่ยนชื่อเมืองใหม่กลายเป็น “เมืองศรีโคตรบูร” ตรงตามชื่ออาณาจักรดั้งเดิม ในยุคสมัยนี้ยังได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์พระธาตุพนมอีกด้วย ต่อมา พ.ศ. 2280 พระธรรมราชา เจ้าเมืองศรีโคตรบูรองค์สุดท้ายได้ย้ายเมืองมาตั้งบนฝั่งขวา (ฝั่งไทย) เยื้องเมืองเก่าขึ้นไปทางเหนือ แล้วให้ชื่อว่า “เมืองนคร” ซึ่งก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าจะมีการโยกย้ายอีกหลายครั้ง ดังเช่น พ.ศ.2321 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ได้มีการย้ายเมืองอีกครั้งไปตั้งที่บ้านหนองจันทร์ ห่างขึ้นไปทางทิศเหนือ 52 กิโลเมตร จนถึงสมัยรัชกาลที่ 1 พ.ศ. 2333 เมื่อผู้ครองเมืองนครถึงแก่พิราลัย เมืองนครก็ได้ขอขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร โดยรัชกาลที่ 1 พระราชทานนามให้ใหม่ว่า“ นครพนม” ชื่อนครพนมนั้นมีข้อสันนิษฐานว่าเคยเป็นเมืองลูกหลวงมาก่อนและมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์จึงได้ใช้คำว่า “ นคร” ส่วนคำว่า “พนม” ก็มาจากพระธาตุพนมปูชนียสถานที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองมาช้านาน บ้างก็ว่ามรุกขนครเดิมที่อยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงตั้งอยู่ในบริเวณที่มีภูเขาสลับซับซ้อนจึงนำคำว่า “พนม” ซึ่งแปลว่าภูเขามาใช้ ส่วนคำว่า “นคร” ก็เป็นการดำรงชื่อเมืองไว้คือเมืองมรุกขนคร นครพนมจึงหมายถึง “ เมืองแห่งภูเขา” นั่นเองจังหวัดนครพนมมีพื้นที่ประมาณ 5,512.668 ตารางกิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 740 กิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น 11 อำเภอ 1 กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมืองนครพนม ธาตุพนม นาแก ท่าอุเทน เรณูนคร บ้านแพง ปลาปาก ศรีสงคราม นาหว้า โพนสวรรค์ นาทม และกิ่งอำเภอวังยาง
สถานที่ท่องเที่ยว: อุทยานแห่งชาติภูลังกา ห่างจากตัวอำเภอบ้านแพงประมาณ 6 กิโลเมตร อุทยานแห่งชาติภูลังกาครอบคลุมพื้นที่อำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม และอำเภอเซกา จังหวัดหนองคาย มีเนื้อที่ประมาณ 31,250 ไร่ หรือประมาณ 50 ตารางกิโลเมตร ลักษณะเป็นภูเขาทับซ้อนกัน 3 ลูก สลับด้วยเทือกเขาขนาดเล็กสลับซับซ้อน ทอดยาวตามแนวลำน้ำโขง สภาพโดยทั่วไปเป็นป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณและป่าแดงที่สมบูรณ์มีสัตว์ป่าชุกชุม เป็นต้นกำเนิดของน้ำตก และลำธารใหญ่น้อยหลายสาย


สิ่งที่น่าสนใจภายในอุทยานฯ


น้ำตกตาดขาม เป็นน้ำตกที่ไหลเป็นชั้น ๆ จำนวน 4 ชั้น เฉพาะชั้นสุดท้ายจะมีแอ่งน้ำขังตลอดปี สภาพโดยรอบร่มรื่น และมีลานหินเล็ก ๆ เหมาะสำหรับพักผ่อน


น้ำตกตาดโพธิ์ กำเนิดจากเทือกเขาภูลังกา อยู่ใกล้ กับน้ำตกตาดขาม ห่างกันประมาณ 4 กิโลเมตร การเดินทางใช้ทางหลวงหมายเลข 212 จากนครพนมแล้วเลี้ยวซ้ายบริเวณกิโลเมตรที่ 214 เข้าไปประมาณ 3 กิโลเมตร น้ำตกมีลักษณะสวยงามไม่น้อยกว่าน้ำตกตาดขาม เป็นน้ำตกที่ไหลเป็นชั้นจำนวน 4 ชั้น แต่ละชั้นสูงไม่น้อยกว่า 10 เมตร ชั้นที่ 2 สูงถึง 30 เมตร


น้ำตกกินรี เป็นน้ำตกที่สวยงามแห่งหนึ่ง มีลานหินกว้างรองรับน้ำตกและป็นที่นั่งพักผ่อน น้ำตกมี 2 ชั้น อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯภูลังกา ประมาณ 34 กิโลเมตร


เจดีย์กองข้าวศรีบุณเนาว์ เป็นเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ที่อัญเชิญมาจากประเทศเนปาลเมื่อปี 2543 ตั้งอยู่บนลานหินที่มีลักษณะคล้ายกองข้าว ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของภูลังกาสูงประมาณ 563 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ลักษณะทั่วไปเป็นลานหินกว้างสลับด้วยพรรณไม้นานาชนิด มีอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี มีจุดชมวิวดูพระอาทิตย์ขึ้น จากแม่น้ำโขงและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในตอนเช้าที่สวยมาก เจดีย์นี้อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูลังกาประมาณ 4 กิโลเมตร
เจดีย์อาจารย์วัง เป็นเจดีย์ขนาดเล็กใช้บรรจุพระธาตุของหลวงปู่วัง เกจิอาจารย์ชื่อดังเมื่อ 50 กว่าปีที่แล้ว ตั้งอยู่บนลานหินทราย ขนาดใหญ๋ สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 545 เมตร อยู่ใกล้ๆกับหน้าผา "ใจขาด" ซึ่งเป็นหน้าผาที่สูงชันมากบริเวณรอบๆมีก้อนหินรูปทรงแปลกๆ เป็นจุดชมวิวดูพระอาทิตย์ตกที่บริเวณบึงโขงหลงที่สวยงามมาก อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯประมาณ 7 กิโลเมตร สามารถขึ้นไปท่องเที่ยวได้ โด ยการเดินผ่านไปทางเจดีย์กองข้าวศรีบุญเนาว์
ของดีของฝาก: ผ้าฝ้าย ผ้าไหม เครื่องจักสาน เครื่องปั้นดินเผา งานตีเหล็ก เครื่องดนตรีพื้นเมือง

ต้นไม้ประจำจังหวัด: ชื่อสามัญ Anan, Tembusu ชื่อวิทยาศาสตร์ Fagraea fragrans Roxb. วงศ์ LOGANIACEAE ชื่ออื่น กันเกรา (ภาคกลาง) , ตะมะซู ตำมูซู (มลายู-ภาคใต้) , ตาเตรา (เขมร-ภาคตะวันออก) , ตำเสา ทำเสา (ภาคใต้) , มันปลา (ภาคเหนือ , ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ลักษณะทั่วไป ต้นสูงประมาณ 20–30 เมตร ไม่ผลัดใบ เรือนยอดรูปไข่หรือรูปกรวยคว่ำ หนาทึบ ใบเดี่ยว รูปรีหรือแกมใบหอก สีเขียวเข้มเป็นมัน ใต้ใบสีอ่อน ออกดอกเป็นช่อจำนวนมากที่ปลายกิ่ง ดอกสีขาว แล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเมื่อใกล้โรย มีกลิ่นหอมเย็น ลักษณะดอกคล้ายแจกัน ออกดอกตลอดปี การขยายพันธุ์ โดยการเพาะเมล็ด สภาพที่เหมาะสม เติบโตได้ดีในที่ชื้นแฉะ แสงแดดจัด ถิ่นกำเนิด ป่าเบญจพรรณและตามที่ใกล้แหล่งน้ำใน ประเทศอินเดีย , มาเลเซีย , พม่า , เวียดนาม และประเทศไทย

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

 

My Blog List

Term of Use

ต้นไม้และคำขวัญ ประจำภาคอีสาน Copyright © 2009 Flower Garden is Designed by Ipietoon for Blogger Template Gallery Flower Image by Dapino